รายละเอียดของเครื่องพ่นชนิดต่างๆ
เครื่องพ่นมาตรฐานตามลักษณะการใช้งานที่สำคัญ ควรมีลักษณะดังนี้
1. เครื่องพ่นหมอกควัน (Thermal fog generator) เครื่องพ่นหมอกควันแบบใช้ความร้อนช่วยในการแตกตัวของสารเคมีรูปของเหลวเป็นละอองเล็กขนาด 0.1 - 60 um ขนาดเฉลี่ยของเม็ดน้ำยา (VMD) ขึ้นอยู่กับปริมาณความร้อนและปริมาณสารเคมีที่พ่น ถ้าความร้อนสูงหรือปริมาณสารเคมีที่พ่นออกมาน้อย ขนาดเม็ดน้ำยา ก็เล็กกว่าปริมาณสารเคมีที่พ่นมากกว่าในขนาดความร้อนเดียวกัน ปัญหาสำคัญของเครื่องพ่นหมอกควันแบบใช้ความร้อนคือการสลายตัวของสารเคมี เนื่องจากความร้อน ซึ่งอาจเนื่องมาจากคุณสมบัติของสารเคมีเอง หรืออาจเนื่องมาจากเครื่องพ่นเคมีที่ให้ความร้อนสูงเกินไป โดยปกติเครื่องพ่นหมอกควันที่มีคุณภาพดีควรสามารถควบคุมอุณหภูมิ ณ จุดหรือบริเวณที่น้ำยาสัมผัสความร้อนและแตกตัวให้บริเวณนี้มีอุณหภูมิระดับ ที่ไม่ทำลายคุณภาพของสารเคมี หรือมีอุณหภูมิบริเวณนี้ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจทดสอบได้โดยการใช้น้ำแทนสารเคมี หากเครื่องพ่นใดพ่นน้ำออกเป็นละอองโดยสมบูรณ์หรือเป็นไอ แสดงว่าอุณหภูมิจุดนั้นสูงเกินจุดน้ำเดือด (100 องศาเซลเซียส) โอกาสทำลายคุณภาพสารเคมีที่ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนย่อมมีอยู่ แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและคุณสมบัติของสารเคมีนั้น และสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในเครื่องพ่นหมอกควัน จะมีความเข้มข้นต่ำมาก ๆ จึงย่อมมีโอกาสลดคุณภาพการพ่นสารเคมีลงได้มาก ฉะนั้น การใช้เครื่องพ่นหมอกควันที่มีคุณภาพต่ำก็ลดประสิทธิภาพการพ่นหมอกควันลง
2. เครื่องพ่นฝอยละเอียด ULV (ULV cold fog generator) สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ขนาดเม็ดน้ำยาที่เครื่องผลิตได้ ควรมีขนาดใหญ่สุดไม่เกิน 60 mm ขนาดเม็ดน้ำยาที่ดีที่สุดควรเป็น 5 - 27um เพราะฉะนั้นค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกใช้บอก คุณภาพเครื่องว่าผลิตเม็ดน้ำยาที่มีคุณภาพสูงสุด คือ ค่า VMD (Volume Median Diameter) เท่ากับ 27um หรืออาจบอกว่าจำนวนเม็ดน้ำยาไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 มีขนาดเล็กกว่า 27um ซึ่งอาจหมายถึง กว่าร้อยละ 99 ของละอองน้ำยาที่มีขนาดฝอยละเอียด aerosol (ไม่เกิน 50um) จะลอยฟุ้งในบรรยากาศได้นานและใช้ประโยชน์ของละอองน้ำยาทุกเม็ดในการกำจัดยุงบิน
3. เครื่องพ่นฝอยละออง (Mist blower) เครื่องพ่นนี้จะพ่นเม็ดน้ำยาขนาด 20 - 100 um และมีค่า VMD = 57 ?m หมายถึงร้อยละ 85 มีขนาดเม็ดน้ำยาเล็กกว่า 57 um แต่จะพบว่าขนาดเม็ดน้ำยาที่สามารถลอยฟุ้งในบรรยากาศได้ดีและนาน (aerosol droplet ที่มีขนาดเล็กกว่า 50 um) จะมีเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 65 ที่มีขนาดเม็ดน้ำยาใหญ่กว่า 50 um จะตกลงสู่พื้นดินในระยะเวลาที่สั้นมาก จึงสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำยาได้เพียง 35 % สำหรับแมลงบิน แต่ในทางตรงกันข้าม หากต้องการพ่นสารเคมีกำจัดแมลงบินบริเวณแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น แมลงวันบริเวณกองขยะ แมลงสาบ เครื่องพ่นนี้กลับน่าจะมีประโยชน์กว่าเครื่องฝอยละเอียด ULV แต่หากใช้แทนเครื่อง ULV อาจมีปัญหาเรื่องความสิ้นเปลืองน้ำยาสูงและเม็ดน้ำยาตกลงในบริเวณนั้น ไม่ลอยฟุ้งในบรรยากาศ